แผนพัฒนาสามปี
“ แผนพัฒนาสามปี ” หมายถึง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สอดคล้องกันแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา อันมีลักษณะเป็นการกำหนดรายละเอียดแผนงาน โครงการพัฒนาที่จัดทำขึ้นสำหรับปีงบประมาณแต่ละปี ซึ่งมีความต่อเนื่องและเป็นแผนก้าวหน้าครอบคลุมระยะเวลาสามปี โดยมีการทบทวนเพื่อปรับปรุงเป็นประจำทุกปี
ลักษณะของแผนพัฒนาสามปี
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า แผนพัฒนาสามปีเป็นการแปลงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาไปสู่การปฏิบัติ โดยมีหลักคิดที่ว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาหนึ่ง ๆ จะมีแนวทางการพัฒนาได้มากกว่าหนึ่งแนวทาง และภายใต้แนวทางการพัฒนาหนึ่ง จะมีโครงการ/กิจกรรมได้มากกว่าหนึ่งโครงการ/กิจกรรมที่จะต้องนำมาดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการในแต่ละยุทธศาสตร์การพัฒนา ซึ่งจะมีผลต่อวัตถุประสงค์ เป้าหมาย จุดมุ่งหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และวิสัยทัศน์ในที่สุด
นอกจากนั้น แผนพัฒนาสามปี เป็นแผนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้การวางแผนพัฒนาเป็นเครื่องมือในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยนำโครงการ/กิจกรรมจากแผนพัฒนาสามปีในปีที่จะจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีไปจัดทำงบประมาณ เพื่อให้กระบวนการจัดทำงบประมาณเป็นไปด้วยความรอบครอบ และผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
ดังนั้น โครงการที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาสามปี โดยเฉพาะในแผนประจำปีแรกของห้วงระยะเวลาสามปีนั้น ควรมีสภาพความพร้อมอย่างน้อย 2 ประการ คือ
1. มีความแน่นอนของกิจกรรมที่จะดำเนินการ โดยควรมีการประเมินถึงความเป็นไปได้ของโครงการ/กิจกรรม รวมทั้งผลประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับจากโครงการ / กิจกรรม
2. กิจกรรมที่อยู่ในแผนประจำปีแรกของห้วงระยะเวลาสามปี ควรมีความพร้อมในเรื่องรูปแบบและรายละเอียดทางเทคนิคพอสมควร เพื่อให้สามารถกำหนดรายการในแผนพัฒนาที่จะนำไปใช้จัดทำ งบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ต่อไป
ลักษณะแผนพัฒนาสามปีของ อบต. ควรมีดังนี้
1. วัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาสามปี ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา
2. ใช้กำหนดนโยบายการพัฒนา อบต. ประจำปี เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงาน
3. แผนพัฒนาสามปีของ อบต. ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี แบบแผนการปฏิบัติราชการที่ดี ประกาศและหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย
4. การจัดทำทุกขั้นตอนต้องยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างสม่ำเสมอ
5. จัดทำขึ้นตามขั้นตอนที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
6. ผู้จัดทำแผนต้องเป็นคณะบุคคลตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ไม่ใช่จัดทำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
7. ต้องให้ประชาชนในตำบลมีส่วนร่วมในการจัดทำ ร่วมดำเนินการ ร่วมรับรู้ และร่วมตรวจสอบเพื่อให้แผนพัฒนา อบต. เป็นที่ยอมรับและได้รับความร่วมมือจากประชาชน ประชาคมตำบลและประชาคมหมู่บ้านอย่างจริงจัง
8. ต้องได้รับความร่วมมือจาก อบต. อื่นและจากผู้กำกับดูแลเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการพัฒนาท้องถิ่นและแลกเปลี่ยนทรัพยากรต่อกัน
9. แผนงาน งานและโครงการในแผนพัฒนาสามปีของ อบต. ต้องเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
10. มีเป้าหมายที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริงและมีความชัดเจน สามารถวัดได้
11. เนื้อหามีความต่อเนื่อง ในลักษณะที่เป็นแผนก้าวหน้า มีความเป็นไปได้หรือมีทางสำเร็จ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ สามารถปฏิบัติได้ มีประสิทธิภาพประสิทธิผล
12. เป็นที่ต้องการของตำบลและตอบสนองนโยบายของ อบต. และนโยบายของรัฐ
13. มีตัวชี้วัดการดำเนินงานที่เหมาะสม ระมัดระวังความเสียหาย พิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจในความคุ้มค่าของงบประมาณที่จัดสรรในทุกๆ ระยะของแผน
14. มีการคำนวณต้นทุนต่อหน่วยของการพัฒนาบริการสาธารณะแต่ละด้านอย่างรัดกุม เพื่อนำมาจัดทำงบประมาณของแผนงาน งานและโครงการที่เน้นผลผลิตและผลลัพธ์ในการปฏิบัติงาน
15. มีระยะเวลาเริ่มต้นและระยะเวลาสิ้นสุดเพื่อ นายก อบต. เป็นผู้รับผิดชอบนำหลักการบริหารเวลามาใช้ควบคุมการปฏิบัติงานให้เสร็จตามตารางเวลาในปฏิทินหรือแผนงานและโครงการที่เชื่อมโยงและเกี่ยวเนื่องกัน
แผนพัฒนาสามปีที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้
1. การจัดทำแผนพัฒนาสามปีควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ของแผนงาน งานและโครงการก่อนเพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าควรจะมีแผนงาน งานและโครงการหรือไม่
2. แผนงาน งานและโครงการที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาสามปีต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 46 และ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 16
3. แผนพัฒนา อบต. ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี แบบแผนการปฏิบัติราชการที่ดี ประกาศและหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย
4. การจัดทำทุกขั้นตอนต้องยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างสม่ำเสมอ
5. จัดทำขึ้นโดยองค์กรและตามขั้นตอนที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ไม่ได้จัดทำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงคนเดียว
6. แผนพัฒนา อบต. ต้องได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชนในตำบล จากผู้กำกับและจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
7. ผู้จัดทำแผนหรือผู้เกี่ยวข้องต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องจุดเด่นและจุดด้อยของตำบลและได้ใช้วิจารณญาณพิจารณาข้อมูลอย่างถูกต้อง
8. จัดทำขึ้นจากความตั้งใจมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง มีเนื้อหาประกอบด้วยแผนงาน งานและโครงการที่สามารถปฏิบัติได้ มีความต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นแผนก้าวหน้า มีความเป็นไปได้หรือมีทางสำเร็จ
วัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนพัฒนาสามปี
แผนพัฒนาสามปีมีความจำเป็นและมีความสำคัญสำหรับคณะผู้บริหาร อบต. และผู้กำกับดูแลใช้ประโยชน์ ดังนี้
1. เพื่อให้ อบต. มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำแผนพัฒนาสามปีที่ถูกต้อง สามารถปฏิบัติได้
2. เพื่อให้รู้ว่าต้องนำปัจจัยอะไรมาพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนา
3. เพื่อให้มีความระมัดระวังรอบคอบในการวางแผนการพัฒนา
4. เพื่อให้การจัดทำถูกต้องตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
5. เพื่อให้เห็นความสำคัญของแผนพัฒนา แล้วนำแผนพัฒนาไปใช้ประโยชน์
ขั้นตอนในการจัดทำแผนพัฒนาสามปี
หลังจากที่ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและแนวทางการพัฒนาในแผนยุทธศาสตร์แล้ว ก็จะต้องถึงขั้นตอนในการแปลงสู่การปฏิบัติโดยการจัดทำแผนพัฒนาสามปี ซึ่งได้กำหนดขั้นตอนการจัดทำเป็นแนวทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปดำเนินการ 7 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมการจัดทำแผน
1. หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดทำแผนพัฒนาควรเข้าพบผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ ความสำคัญและความจำเป็นในการจัดทำแผนพัฒนาสามปี เพื่อให้ผู้บริหารได้ทราบถึงภารกิจที่จะต้องดำเนินการต่อไป และดำเนินการเสนอโครงการจัดทำแผนพัฒนาสามปี ห้วงปี พ.ศ 2553 - 2555 ผ่านปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ผู้บริหารท้องถิ่นอนุมัติ โครงการดังกล่าวจะเป็นการกำหนดทรัพยากรในการจัดทำแผนพัฒนาสามปีและกำหนดปฏิทินการทำงานไว้อย่างชัดเจน
2. หน่วยงานที่รับผิดชอบ แจ้งโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น หน่วยงานภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาคม
ขั้นตอนที่ 2 การคัดเลือกยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา
1. ในขั้นตอนนี้ คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนา จะสรุปยุทธศาสตร์การพัฒนาและแนวทางการพัฒนาจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา พร้อมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ปัญหาความต้องการของท้องถิ่น รวมทั้งสรุปยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัด / อำเภอ และนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่ง
2. คณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น จัดการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น ประชาคมท้องถิ่นและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพิจารณา โดยในการจัดทำแผนพัฒนาสามปีในครั้งแรก ให้เวทีการประชุมร่วมกันดังกล่าวคัดเลือกยุทธศาสตร์การพัฒนา แนวทางการพัฒนาที่สมควรนำมาใช้เป็นแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาสามปี เพื่อเป็นกรอบในการพิจารณาจัดทำโครงการ/กิจกรรมในแผนพัฒนาสามปีต่อไป
แต่สำหรับการจัดทำแผนพัฒนาสามปีครั้งต่อไป (เมื่อครบรอบหนึ่งปี) ให้เวทีการประชุมร่วมพิจารณาทบทวนดูว่า จากยุทธศาสตร์ แนวทางการพัฒนาที่ได้คัดเลือกและโครงการ/กิจกรรมที่กำหนดไว้ ยังคงมีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนนี้ในการจัดทำแผนพัฒนาสามปีในปีต่อไปจะสามารถคัดเลือกยุทธศาสตร์การพัฒนา แนวทางการพัฒนาที่จะนำมาใช้เป็นกรอบการจัดทำแผนพัฒนาสามปีก็ได้ รวมทั้งกำหนดโครงการ/กิจกรรมที่จะเพิ่มเติมหรือตัดทอนลงได้
3. เมื่อได้แนวทางการพัฒนาแล้ว เวทีการประชุมร่วมพิจารณาว่าจะมีโครงการ/กิจกรรมอะไรบ้างที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแนวทางการพัฒนาที่คัดเลือกมาใช้เป็นกรอบในการพัฒนา
ขั้นตอนที่ 3 การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล
1. การเก็บรวบรวมข้อมูลคณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ดำเนินการสำรวจและเก็บรวบรวม ข้อมูลที่จำเป็นต่อการจัดทำแผนพัฒนาสามปี ซึ่งนอกจากจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานทั่วไปแล้ว ยังจะต้องวิเคราะห์ว่ายุทธศาสตร์การพัฒนา แนวทางการพัฒนาที่เลือก ต้องการข้อมูลประเภทใดเป็นพิเศษต้องการข้อมูลของห้วงเวลาใด และจะเก็บข้อมูลจากแหล่งใด เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์แนวทางการพัฒนา โครงการ/กิจกรรมได้อย่างถูกต้อง โดยในการเก็บรวบรวมข้อมูลจะต้องเก็บข้อมูลทั้งข้อมูลภายในองค์กรและข้อมูลภายนอก เพื่อสามารถนำมาวิเคราะห์ SWOT ได้
2. การวิเคราะห์ข้อมูล
ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ
1. การประเมินผลการพัฒนาที่ผ่านมา
2. การคัดเลือกยุทธศาสตร์การพัฒนา
3. การจัดลำดับความสำคัญของแนวทางการพัฒนา
4. การตัดสินใจเลือกแนวทางการพัฒนาในห้วงสามปี
ขั้นตอนที่ 4 การกำหนดวัตถุประสงค์ของแนวทางการพัฒนา
1. หลังจากได้แนวทางการพัฒนาในช่วงสามปีแล้ว ให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาคัดเลือกวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์การพัฒนามาจัดทำเป็นวัตถุประสงค์ของแนวทางการพัฒนา โดยพิจารณาคัดเลือกวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์การพัฒนาจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาในช่วงสามปี โดยนำวัตถุประสงค์ดังกล่าวมาจัดทำเป็นวัตถุประสงค์ของแนวทางการพัฒนาในช่วงสามปีบางครั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจกำหนดวัตถุประสงค์ของแนวทางการพัฒนาตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นแล้ว แต่อาจนำมาปรับให้ชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงสามปี
2. ในขั้นตอนนี้ ที่ประชุมจะร่วมกันพิจารณากำหนดโครงการ/กิจกรรมการพัฒนา ที่จะต้องดำเนินการตามแนวทางที่คัดเลือก และโดยที่กิจกรรมที่จะดำเนินการย่อมมีความหลากหลาย ซึ่งที่ประชุมจะต้องพิจารณาในประเด็นดังต่อไปนี้ด้วยคือ
1) พิจารณากิจกรรมที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแนวทางการพัฒนาที่กำหนดอย่างรอบครอบ เพื่อให้ได้โครงการ/กิจกรรมที่ครบถ้วน ซึ่งอาจจะมีทั้งโครงการ/กิจกรรมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการเอง โครงการ/กิจกรรมที่ร่วมดำเนินการกับหน่วยงานอื่น หรือโครงการ/กิจกรรมที่หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการ
2) พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการ/กิจกรรม ควรพิจารณาทั้งภายในแนวทางเดียวกันและระหว่างแนวทางการพัฒนา
3) พิจารณาถึงความเชื่อมโยงของกิจกรรมทั้งในด้านกระบวนการดำเนินงานและในด้านของผลการดำเนินการ เพื่อบรรจุกิจกรรมลงในปีต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
4) พิจารณาคัดเลือกโครงการ/กิจกรรม
1. จากความจำเป็นเร่งด่วน
2. ขีดความสามารถทางทรัพยากรการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. ความเชื่อมโยงของกิจกรรม และระยะเวลาที่จะดำเนินการ
ขั้นตอนที่ 5 การจัดทำรายละเอียดโครงการ/กิจกรรมการพัฒนา
คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นพิจารณาคัดเลือกโครงการที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาในช่วงสามปี มาจัดทำรายละเอียดโครงการในด้านเป้าหมาย ผลผลิต ผลลัพธ์ งบประมาณ ระยะเวลา ผู้รับผิดชอบ และตัวชี้วัดความสำเร็จ โดยเน้นการศึกษารายละเอียดของกิจกรรมที่จะดำเนินการในปีแรกของแผนพัฒนาสามปี เพื่อให้สามารถนำไปจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ต่อไป
ขั้นตอนที่ 6 การจัดทำร่างแผนพัฒนาสามปี
1. คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น จัดทำร่างแผนพัฒนาสามปีโดยมีเค้าโครงประกอบด้วย 7 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 บทนำ
ส่วนที่ 2 สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่วนที่ 3 ผลการพัฒนาท้องถิ่นในปีที่ผ่านมา
ส่วนที่ 4 สรุปยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา
ส่วนที่ 5 ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาในช่วงสามปี
ส่วนที่ 6 บัญชีโครงการ/กิจกรรม
ส่วนที่ 7 การติดตามและประเมินผลการนำแผนพัฒนาสามปีไปปฏิบัติ
2. คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำร่างแผนพัฒนาท้องถิ่น จัดเวทีประชาคม ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น ประชาคมท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอร่างแผนพัฒนาสามปีและรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แล้วนำไปปรับปรุงแผนพัฒนาสามปีให้สมบูรณ์ต่อไป
3. คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นนำร่างแผนพัฒนาสามปีที่ปรับปรุงแล้วเสนอคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อพิจารณา
ขั้นตอนที่ 7 การอนุมัติและประกาศใช้แผนพัฒนาสามปี
1. คณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นเสนอร่างแผนพัฒนาสามปีที่ผ่านการพิจารณาให้ผู้บริหารท้องถิ่นเสคณะกรรมการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นหรือเสนอคณะอนุกรรมการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นระดับอำเภอในกรณีที่มีการมอบอำนาจเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยมีกระบวนการเช่นเดียวกับขั้นตอนที่ 9 ของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา
2. ผู้บริหารท้องถิ่นพิจารณาอนุมัติแผนพัฒนาสามปีแล้วสภาท้องถิ่นจะส่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นประกาศใช้แผนพัฒนาสามปีและนำไปปฏิบัติ รวมทั้งแจ้งสภาท้องถิ่น คณะกรรมการพัฒนาจังหวัด คณะกรรมการพัฒนาอำเภอ คณะกรรมการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่น คณะอนุกรรมการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประกาศให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบโดยทั่วกัน
ประโยชน์ของการจัดทำแผนพัฒนาสามปี
การจัดทำแผนพัฒนาสามปี เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้พิจารณาอย่างรอบครอบให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างแนวทางการดำเนินงานต่าง ๆ ที่อาจมีความเชื่อมโยงและส่งผลทั้งในเชิงสนับสนุนและเป็นอุปสรรคต่อกัน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำมาตัดสินใจกำหนดแนวทางการดำเนินงานและใช้ทรัพยากรการบริหารของท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะสูงสุดทรัพยากรการบริหาร โดยทั่วไปประกอบด้วย
เงิน ทั้งเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองและแหล่งงบประมาณภายนอก รวมทั้งมาตรการประหยัดงบประมาณรายจ่ายด้วย
คน ซึ่งหมายความรวมตั้งแต่ผู้บริหารท้องถิ่น พนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ซึ่งจะมีความแตกต่าง หลากหลายทั้งด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ซึ่งองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นจะต้องนำศักยภาพของกำลังคนเหล่านั้นมาใช้รวมทั้งต้องพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และถ้าพิจารณาในความหมายอย่างกว้างและอาจหมายความรวมถึงประชาชนในท้องถิ่นซึ่งจะมีส่วนในการพัฒนาท้องถิ่นด้วย
วัสดุอุปกรณ์ หมายถึง เครื่องจักร เครื่องมือ รวมทั้งอาคารสถานที่ที่จะสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการท้องถิ่นให้เกิดการพัฒนาสูงสุด โดยมีการพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ให้มีความทันสมัยเพื่อรองรับความก้าวหน้าของสังคมโดยส่วนรวมได้อย่างเท่าทัน และใช้วัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ
การบริหารจัดการ เป็นสิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนทรัพยากรทั้งสามประการข้างต้นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีสภาพการพัฒนาอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องศึกษาและนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
แนวทางการจัดทำแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ. 2553 – 2555) ของ อปท.
เพื่อให้การบริหารงานของ อปท. เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยมีแผนพัฒนาเป็นเครื่องมือในการบริหารงาน เมื่อ อปท. ได้รับกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาของ อปท. ในเขตจังหวัดและขอบเขตโครงการที่เกินศักยภาพของ อปท. ในเขตอำเภอแล้วให้ อปท. พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. เตรียมการจัดทำแผนพัฒนาสามปี โดยจัดประชุมประชาคมท้องถิ่นเพื่อแจ้งแนวทางการพัฒนาตามกรอบยุทธศาสตร์ ของ อปท.ในเขตอำเภอ รับทราบปัญหา ความต้องการของประชาชนและข้อมูลพัฒนาที่เกี่ยวข้อง แล้วกำหนดประเด็นพัฒนาของ อปท. ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2552 โดยให้พิจารณาดำเนินการดังนี้
1) การจัดทำแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ. 2554 – 2556) ของ อปท. อาจทบทวนจากแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ. 2553 – 2555) โดยนำโครงการที่กำหนดไว้มาพิจารณาทบทวนปรับปรุง โดยกำหนดรายละเอียด วัตถุประสงค์ เป้าหมาย งบประมาณ หรือจัดลำดับความสำคัญของโครงการและเพิ่มเติมโครงการของปี (พ.ศ. 2554-2556)
2) จัดทำแผนพัฒนาสามปีให้มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ของ อปท. กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาของ อปท. ในเขตจังหวัด และแผนพัฒนาระดับต่างๆ
3) เสริมสร้างทุนเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพและความได้เปรียบทางอัตลักษณ์ ทั้ง ทุนสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการเกื้อกูลกัน
4) นำข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช.2 ค) และข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาจากหน่วยงานต่างๆ มาพิจารณาประกอบ
5) การดำเนินงานเมืองน่าอยู่ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม 5 มิติ คือ มิติเมืองปลอดภัย มิติเมืองสะอาด มิติเมืองมีคุณภาพชีวิต มิติเมืองธรรมาภิบาล มิติเมืองวัฒนธรรม
6) คำนึงถึงประโยชน์การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม ใช้ผังเมือง หรือผังตำบลเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนพัฒนา
7) คำนึงถึงการบูรณาการโครงการ ระหว่าง อปท. และระหว่างหน่วยงานอื่นๆ มีวัตถุประสงค์ร่วมกันและสามารถจัดกิจกรรมสนับสนุนซึ่งกันและกันได้
8) แผนพัฒนาสามปี เป็นการกำหนดรายละเอียดของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา เพื่อให้แผนพัฒนาสามปีเป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใกล้เคียงความจริง โดยแยกประเภทโครงการออกอย่างน้อยเป็น 3 ประเภทคือ
8.1) โครงการที่ อปท. ดำเนินการเอง
8.2) โครงการที่ อปท. อุดหนุนให้หน่วยงานอื่นดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย
8.3) โครงการที่ อปท. ขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น
9) ใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาสามปี โดย..
9.1) สนับสนุนให้มีการจัดทำแผนชุมชนให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่
9.2) พิจารณานำโครงการ / กิจกรรม ที่เป็นปัญหาความต้องการของประชาชนจากการจัดเวทีประชาคมมาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาสามปี
10) ให้ความสำคัญกับหลักการทำงานของคณะรัฐมนตรี
2. คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนจัดทำร่างแผน และคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นพิจารณาร่างแผนให้แล้วเสร็จภายในเดือน เมษายน – พฤษภาคม ของทุกปี
3. ผู้บริหารพิจารณาอนุมัติร่างแผนพัฒนาสามปี / ประกาศใช้แผนพัฒนาสามปี ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน ของทุกปี
4. เมื่อ อปท. ประกาศใช้แผนพัฒนาสามปีแล้ว นำไปปฏิบัติ รวมทั้งแจ้ง สภาอบต. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประกาศให้ประชาชนในท้องถิ่นทราบโดยทั่วกันภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศใช้และปิดประกาศไม้น้อยกว่าสามสิบวัน
แผนพัฒนาสามปี สามารถคลิกดาวน์โหลดได้ที่นี่
สภา
|
||
|
|
|
|
||
สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน
ข้อมูลทั่วไป
1. ที่ตั้ง ตามเอกสารแผนที่โดยสังเขป (ตามแผนที่ท้ายบท)
2. เนื้อที่ ตำบลและมีเนื้อที่ประมาณ 225.41 ตร.กม. หรือประมาณ 140,881.25 ไร่
3. ภูมิประเทศ โดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงมีที่ทำกินเป็นที่ราบตามหุบเขาและเชิงเขา มีแม่น้ำน่านเป็นแม่น้ำสายหลัก มีที่ลุ่มแม่น้ำน่านเป็นพื้นที่ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์
4. ภูมิอากาศ สามารถแบ่งฤดูกาลออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้
1) ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงราวปลายเดือนตุลาคม โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม
ตะวันตกเฉียงใต้ที่ผัดผ่านทะเลและมหาสมุทร เป็นลมที่มีความชื้นสูง ทำให้ฝนตกชุก
2) ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพล
ของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดพามาจากประเทศจีน นำเอาอากาศหนาวเย็นเข้ามาปกคลุม
3) ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคมถึงราวปลายเดือนเมษายน ในช่วงนี้จะได้รับอิทธิพล
จากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ จะมีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไปและมีฟ้าหลัวเกือบทุกวัน
5. ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล มีจำนวน 13 หมู่บ้าน
หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งอ้าว พื้นที่ 24.25 ตร. กม. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2442 อยู่ห่างจาก อ. ทุ่งช้าง 6 กม.
หมู่ที่ 2 บ้านศาลา พื้นที่ 15.21 ตร. กม. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2442 อยู่ห่างจาก อ.ทุ่งช้าง 5 กม.
หมู่ที่ 3 บ้านดอนชัย พื้นที่ 13.82 ตร.กม. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2442 อยู่ห่างจาก อ.ทุ่งช้าง 3.5 กม.
หมู่ที่ 4 บ้านเวียงสอง พื้นที่ 12.91 ตร. กม. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2442 อยู่ห่างจาก อ.ทุ่งช้าง 4 กม.
หมู่ที่ 5 บ้านสันกลาง พื้นที่ 27.79 ตร. กม. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2442 อยู่ห่างจาก อ.ทุ่งช้าง 3 กม.
หมู่ที่ 7 บ้านวังผา พื้นที่ 14.73 ตร. กม. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2442 อยู่ห่างจาก อ.ทุ่งช้าง 6 กม.
หมู่ที่ 8 บ้านน้ำสอดเก่า พื้นที่ 9.06 ตร. กม. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2442 อยู่ห่างจาก อ.ทุ่งช้าง 9 กม.
หมู่ที่ 9 บ้านเฟือยลุง พื้นที่ 38.62 ตร. กม. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2442 อยู่ห่างจาก อ.ทุ่งช้าง 2 กม.
หมู่ที่ 10 บ้านน้ำเพาะ พื้นที่ 11.32 ตร. กม. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2519 อยู่ห่างจาก อ.ทุ่งช้าง 9 กม.
หมูที่ 11 บ้านป่าเต้า พื้นที่ 10.14 ตร. กม. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2521 อยู่ห่างจาก อ.ทุ่งช้าง 3 กม.
หมู่ที่ 12 บ้านน้ำสอดใหม่ พื้นที่ 15.95 ตร. กม. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2519 อยู่ห่างจาก อ.ทุ่งช้าง 9 กม.
หมู่ที่ 13 บ้านดวงคำ พื้นที่ 16.87 ตร. กม. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2535 อยู่ห่างจาก อ.ทุ่งช้าง 4 กม.
หมู่ที่ 14 บ้านประดู่ พื้นที่ 28.56 ตร. กม. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2536 อยู่ห่างจาก อ.ทุ่งช้าง 4 กม.
- จำนวนหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลและเต็มทั้งหมู่บ้านมีจำนวน 10 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 1, 2, 4, 7, 8, 10, 11, 12, 13, 14
- จำนวนหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลและไม่เต็มบางส่วนมีจำนวน 3 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 3 , 5, 9
6. ท้องถิ่นอื่นในตำบล (แสดงจำนวนเทศบาลและสุขาภิบาลในองค์การบริหารส่วนตำบล)
- จำนวนเทศบาล 1 แห่ง
- จำนวนองค์การบริหารส่วนตำบล - แห่ง
7. ประชากร จำนวนประชากรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลและ (สำรวจเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2553)
มีประชากรทั้งหมด 3,535 คน แยกเป็นชาย 1,735 คน หญิง 1,800 คน